เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาพอกันทีกรูมมิ่ง : Child Grooming ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวว่า มีการดำเนินงานเพื่อผลักดันให้สังคมไทยมีกลไกเข้มแข็งปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ ได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลในทางลบ แสวงหาประโยชน์จากเด็กในรูปแบบต่าง ๆ ในส่วนของภาครัฐมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อกำกับดูแล มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ COPAT (Child Online Protection Action Thailand) เพื่อเป็นหน่วยเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยออนไลน์ ประสานการดำเนินงาน ทั้งในระดับนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวจข้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย
ทางด้าน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่าผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 65 ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.65 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี 31,965 คน พบเด็ก85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน มีการเล่นเกมอย่างหนักหน่วง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงภัยออนไลน์มากขึ้น 40% เด็ก 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม โดยคนร้ายพยายามทำให้เด็กตกหลุมรัก ขอภาพลับ นัดพบจนนำไปสู่การละเมิดทางเพศ เข้าข่ายเป็นพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ หรือ Grooming เด็กประถมปลายอายุ 10 ขวบ 12% ถูก Grooming เด็ก 54% เคยเห็นสื่อลามกอนาจาร 4% เคยถ่ายภาพ หรือ live โชว์ลามกอนาจาร 11% ถูกคุกคามทางเพศ เช่น โดนคอมเมนต์รูปร่างหน้าตา ขนาดหน้าอกหรืออวัยวะเพศ ถูกขอให้พูดคุยเรื่องเพศ รับ-ส่งภาพหน้าอกหรืออวัยวะเพศ เด็ก 15% เคยทำ sex video call ซึ่งเด็ก ป.4-6 จำนวน 4% เคยถูกคุกคามทางเพศ 7% เคยแลกกล้องโชว์สยิว น่าห่วงว่าอาจถูกอัดคลิปแล้วนำไปแบล็กเมล์รีดทรัพย์หรือนัดพบละเมิดเพิ่มเติม
การสำรวจนี้ยังพบเด็ก 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ (cyber bullying) 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย/อันตราย 7% เล่นพนันออนไลน์ 18% จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน และมี 5% เคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี เด็กเผชิญภัยออนไลน์จำนวนมาก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองเพื่อให้เด็กเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัย รวมถึงให้เด็กเข้าถึงช่องทางช่วยเหลือจากภัยต่างๆ ที่ถูกทาง
ขณะที่ ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า หลายคนมองว่าเด็กถูกข่มขืนต้องผ่านการทำร้ายขัดขืน ไม่ได้สมยอม แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมผู้ใหญ่ที่เตรียมการหรือ grooming สร้างความผูกพันให้เด็กไว้วางใจจนนำไปสู่การล่วงละเมิด มักเลือกเด็กที่ขาดความรัก กลุ่มเปราะบางแล้วสร้างความรัก ความไว้วางใจให้เด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง กระทั่งแยกเด็กออกจากผู้ปกครอง เริ่มแสดงออกทางเพศกับเด็ก และบันทึกวิดีโอ อ้างความรัก การทวงบุญคุณเพื่อให้เด็กอยู่ในการควบคุม ที่น่าเศร้าผู้กระทำบางรายเป็นครู จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ อย่าให้ปัญหาซุกใต้พรม เพราะจะเข้าทางผู้กระทำ เปลี่ยนบรรทัดฐานสังคมต้องไม่เงียบ และสร้างบุคคลแวดล้อมขัดขวางปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่จะช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนด้วยกัน
ส่วน พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผบก.ตอท. กล่าวว่าจากประสบการณ์ทำงานในคดีล่วงเมิดทางเพศจากภัยออนไลน์ พบมากสุดคือการถูกหลอกให้ไปเป็นดารานางแบบ ด้วยการให้ส่งภาพลับที่ให้เห็นทรวดทรง และนำไปแบล็กเมล์สู่การล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ยังมีการนำภาพลับส่วนตัวแลกเงิน โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 10 ปี จะถูกหลอกได้ง่าย จากนั้นจะถูกข่มขู่เพื่อล่วงละเมิด รวมทั้งยังมีการนำภาพส่วนตัวที่มีกิจกรรมทางเพศกับแฟน และตัวแฟนนำไปเผยแพร่ หรือแม้แต่ช่างซ่อมโทรศัพท์ที่กู้ภาพลับลูกค้าไปเผยแพร่