สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย เร่งพัฒนากฎหมาย กลไกป้องกัน เฝ้าระวัง คุ้มครอง ช่วยเหลือเยียวยา ด้านตำรวจสากล หนุนไทยจัดการปัญหาภาพลามก แสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กออนไลน์
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับเครือข่ายฮอตไลน์สากลอินโฮป (INHOPE – International Association of Internet Hotlines) กรมกิจการเด็กและเยาวชน เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสัมมนา ภาพลามกอนาจารและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กออนไลน์…ทางออกประเทศไทย
นางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมฯ มีศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ โคแพท (COPAT) ทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยออนไลน์ ทำงานทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อให้เด็กเยาวชนใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยสร้างสรรค์ จัดอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพื่อทำงานร่วมกับตำรวจและสหวิชาชีพ มีสายด่วนรับแจ้งเหตุหมายเลข 1300 และ แอปพลิเคชัน “คุ้มครองเด็ก” จัดทำสื่อให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อการป้องกันและเฝ้าระวัง ผลักดันให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพิ่มฐานความผิด grooming, sexting, sextortion, cyber stalking และ cyber bullying โดยได้รับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันเสริมกำลัง พัฒนาศักยภาพ รวมถึงการทำงานป้องกันเชิงรุก ยังเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องผลักดัน
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และผู้จัดการสายด่วนอินเทอร์เน็ต ไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) ภาคีเครือข่าย สสส. กล่าวว่า แต่ละปีได้รับแจ้งจากทั้งในและต่างประเทศให้ติดตามลบภาพอนาจารทางเพศเด็กเป็นหมื่นครั้ง ไทยฮอตไลน์เป็นสมาชิกของ INHOPE มีเครือข่ายสายด่วนอินเทอร์เน็ตใน 50 ประเทศทั่วโลก ทำงานผ่านระบบข้อมูลที่เรียกว่า ICCAM เพื่อนำภาพออกจากอินเทอร์เน็ต และประสานกับเจ้าหน้าที่เพื่อจับตัวผู้กระทำความผิด ปัจจุบันพบตัวเลขการแจ้งปัญหามีแนวโน้มสูงขึ้น ล่าสุดไทยฮอตไลน์ได้รับแจ้งมากกว่า 15,000 ครั้ง ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 พบ เด็ก 31,945 คน มีข้อบ่งชี้ว่า เด็กไทยเสี่ยงภัยออนไลน์สูง เนื่องจาก 81% มีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง และใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน เพิ่มโอกาสให้เข้าถึงเนื้อหาผิดกฎหมาย และการติดต่อที่อาจเป็นอันตราย
ดร.ศรีดา กล่าวต่อว่า เด็กส่วนใหญ่ที่มีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง เข้าถึงสื่อลามกอนาจารออนไลน์ได้ง่าย และยอมรับว่าเคยถูกจีบออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การคบหา หลอกขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ และถ่ายรูปไว้ข่มขู่แบล็กเมล กรูมมิ่ง (grooming) เป็นภัยร้ายรูปแบบใหม่ที่ผู้ใหญ่ตั้งใจเข้ามาตีสนิท สร้างความไว้วางใจกับเด็ก เมื่อสบโอกาสก็แยกเด็กออกจากเพื่อนหรือครอบครัว โดยการพาไปเที่ยว ดูหนังโป๊ ข่มขืนอนาจารในสถานที่จริง หรืออนาจารผ่านกล้อง แล้วบันทึกภาพไว้ควบคุมเด็กให้ยอมทำตาม เด็กหลายรายไม่กล้าบอกใครจนเกิดความเครียดถึงขั้นฆ่าตัวตาย เสนอให้ไทยควรออกกฎหมายลงโทษคนที่กำลังล่อลวงเด็ก เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ หรือ กรูมมิ่ง (grooming) ป้องกันก่อนคนร้ายลงมือข่มขืนกระทำชำเราเหยื่อ ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ ก็มีกฎหมายนี้แล้ว
พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับการกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า วิธีการที่คนร้ายใช้หลอกลวงผู้เสียหายในโลกออนไลน์ ปัจจุบันมีแผนประทุษกรรมที่ซ้ำกัน โดยใช้คำคล้องจองสั้นๆ เช่น หลอกให้เงิน, เชิญเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า, ท้าให้เปิดกล้อง โดยคนร้ายจะเข้ามาตีสนิท หลอกล่อว่าจะให้เงินหรือพาเข้าวงการเป็นดารา แลกกับการให้ถ่ายรูป คลิปลามกอนาจาร หรือวิดีโอคอลรูปแบบอนาจาร สำเร็จความใคร่ แต่สุดท้ายคนที่ส่งไปจะไม่มีใครได้เงิน จากนั้นคนร้ายจะเอาภาพลามกอนาจารไปขาย ส่งต่อ หรือนำกลับมาข่มขู่ เรียกเงินหรือคลิปเพิ่ม เมื่อหลุดไปในโลกออนไลน์ จะถูกเผยแพร่ซ้ำ ถูกนำไปแสวงหาประโยชน์ เช่น การซื้อขายสื่อลามกอนาจารเด็กโดยตรง นำไปตั้งกลุ่มลับในไลน์ หรือ VK หรือ ทวิตเตอร์ เพื่อเรียกเก็บค่าสมาชิก ยังพบการแสวงหาประโยชน์โดยอ้อม เช่น การนำสื่อลามกอนาจารเด็ก ไปเป็นสื่อโฆษณาให้เด็กและเยาวชนเข้าเล่นเว็บพนัน
“รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญกับปัญหานี้ มีการจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง จัดตั้งชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ TICAC ทำหน้าที่สืบสวน จับกุม ปราบปราม และป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต และต่อมาจัดตั้งเป็น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต เป็นการเฉพาะ เพื่อทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ต่อสู้กับปัญหานี้ การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย มาใช้บังคับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมีส่วนสำคัญ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการ Grooming เด็ก บทนิยามใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อผู้ปฏิบัติ” พ.ต.อ.รุ่งเลิศกล่าว
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาสื่อลามกอนาจารเด็กในอดีต พบเห็นผู้กระทำความผิด มีพฤติการณ์สะสมภาพลามกอนาจารเด็ก เพื่อประโยชน์ทางเพศสำหรับตนเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบัน มีการประกอบธุรกิจในลักษณะแสวงประโยชน์ทางเพศ การค้าสื่อลามกอนาจารเด็กที่รุนแรงมากขึ้น อาชญากรมีความรู้ รู้จักหลบหลีก เพิ่มความยุ่งยากสลับซับซ้อน ให้เจ้าหน้าที่ยากแก่การรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องยอมรับว่า กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังไม่ทันอาชญากร ในบางคดีการทำงานแบบบูรณาการยังขาดความต่อเนื่อง เสนอให้แก้กฎหมายให้ทันสมัย โดยเฉพาะกฎหมายป้องกันการล่อลวงละเมิดทางเพศเด็ก ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักมาประสานการทำงาน และช่วยเสริมเติมเต็มให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำงานร่วมกัน อีกทั้งหากบุคลากรด้านนี้ได้รับโอกาสเรียนรู้เพิ่มศักยภาพการทำงานตามมาตรฐานสากล เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ออกมา จะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เราทำงานโดยยึดหลักให้เด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
นางสาววาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กจำนวนมาก ขาดความรู้เท่าทันและมีความเสี่ยงจากภัยออนไลน์หลากหลายรูปแบบ แม้ประมวลกฎหมายอาญากำหนดว่า การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงประโยชน์ในทางเพศสําหรับตนเองหรือผู้อื่น รวมทั้งผู้ส่งต่อสื่อลามกอนาจารเป็นความผิดอาญา ผู้กระทําความผิดก็ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย สื่อลามกอนาจารเด็ก อาจนําไปสู่ความรุนแรงทางเพศ ถูกแสวงประโยชน์จากการเป็นผู้เสียหายทางการค้ามนุษย์ สิ่งที่สำคัญคือการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ กระตุ้นให้เด็กรู้คิดอย่างเป็นเหตุผล มีทักษะการประเมินความเสี่ยง การจัดการปัญหา การขอความช่วยเหลือให้เข้าใจประเด็นเรื่องภัยออนไลน์ ผลกระทบ และวิธีตอบสนองที่เหมาะสม กับสถานการณ์รวมทั้งพัฒนาการเด็ก
นางมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และ นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและคลาวด์ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กบนโลกออนไลน์ และสนับสนุนการก่อตั้งไทยฮอตไลน์มาตั้งแต่ต้น เพื่อรับแจ้งเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะภาพลามกอนาจารเด็กและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ทั้งสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนรับมือกับภัยออนไลน์ ขณะที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในการจัดส่งพยานหลักฐาน ได้แก่ ข้อมูลผู้ใช้บริการ หรือข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ ในการหาตัวผู้กระทำความผิด อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นเว็บไซต์ หรือส่งมอบ หรือดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย