เมื่อเรารู้ว่าเด็กมีความเสี่ยงจากสื่อออนไลน์แล้ว ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลเด็ก ควรจะมีข้อตกลงและข้อแนะนำกับเด็ก ๆ เพื่อให้เด็กปลอดภัยจากความเสี่ยงทั้งหลาย และข้อแนะนำบางอย่างเอง พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถนำไปใช้เพื่อให้การใช้สื่อออนไลน์เป็นไปอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สร้างข้อตกลงเรื่องการใช้เวลากับหน้าจอ
พ่อแม่ผู้ปกครองควรพูดคุยกับเด็กเรื่องการสร้างข้อตกลงร่วมกันในการใช้เวลากับหน้าจอ เช่นวันละไม่เกินกี่ชั่วโมงตามความเหมาะสม หากกังวลว่าเด็กจะเบื่อและเหงาเมื่อไม่ได้ออนไลน์ ลองจัดกิจกรรมในครอบครัวเพื่อทำร่วมกัน เช่น ช่วยกันทำอาหาร ทำงานศิลปะ ทำงานบ้าน ตกแต่งสวน เล่นดนตรี กีฬา เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และควรเป็นกิจกรรมที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน และไม่โหยหาการออนไลน์มากเกินไป
ไม่ออนไลน์ในห้องส่วนตัว
ในครอบครัวควรมีข้อตกลงเรื่องสถานที่ในการออนไลน์ ควรเป็นห้องนั่งเล่นหรือห้องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะการละเมิดทางเพศออนไลน์อาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า หากเด็กออนไลน์ในห้องส่วนตัว อาจถูกชักชวนพูดคุยเรื่องเพศ หรือส่งรูปภาพที่ไม่เหมาะสมมาให้ นอกจากนี้พ่อแม่ยังสามารถสังเกตการณ์เข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ของเด็กได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ พ่อแม่ควรรักษาระยะ คอยสังเกตอยู่ห่าง ๆ และให้ความเป็นส่วนตัวกับเด็ก แต่ยังสามารถดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม
เลือกดูแต่สื่อดีมีประโยชน์
สอนให้เด็กเลือกสรรดูสื่อที่ดี มีประโยชน์ เนื้อหาเหมาะสมกับวัย ไม่ใช่เนื้อหาผิดกฎหมาย พนัน สารเสพติด หรือมีความรุนแรง เด็กบางวัยอาจมีความสนใจในเรื่องทางเพศ อยากรู้อยากเห็น พ่อแม่อาจหาสื่อที่เหมาะสมใช้ในการสอนลูกเรื่องเพศ ไม่ปิดกั้นจนเกินไป และสามารถให้คำแนะนำกับเด็กได้ เพราะการที่เด็กได้รู้เรื่องที่ถูกต้องจากพ่อแม่ย่อมดีกว่าไปเรียนรู้ในทางที่ผิดกับคนแปลกหน้า
ข้อมูลส่วนตัวอย่าให้รั่วไหล
สอนเด็กให้ระมัดระวังเรื่องการให้ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ กับคนอื่น ไม่ว่าจะที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รูปภาพส่วนตัวและอื่น ๆ ให้เด็กรู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหากมีผู้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามมาหาถึงที่พัก การนำข้อมูลไปปลอมแปลงเป็นผู้อื่น การเอาข้อมูลไปทำสิ่งผิดกฎหมาย นำไปกลั่นแกล้ง อาจทำให้เด็กอับอาย เสียหาย เมื่อเด็กรับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เด็กจะระมัดระวังตัวในการให้ข้อมูลผู้อื่นมากขึ้น
ไม่หลงเชื่อคนแปลกหน้า
ในช่วงเวลาที่เด็กออนไลน์ อาจรู้สึกเบื่อ เหงา เมื่อมีเพื่อนใหม่เข้ามาคุยด้วย อาจทำให้รู้สึกสนุก ตื่นเต้นมากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ควรให้คำแนะนำในการรับเพื่อนใหม่ ช่วยตรวจสอบประวัติเบื้องต้น และควรสอนว่าเราไม่สามารถไว้ใจเพื่อนใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคนแปลกหน้าที่เข้ามาขอเป็นเพื่อนใหม่นั้น อาจสร้างประวัติปลอมขึ้นมา อาจไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้ หากต้องการคุยกับเพื่อนใหม่ ให้คุยแบบมีระยะห่างที่เหมาะสม ไม่เปิดกล้อง ไม่นัดเจอกันเอง หากจะนัดเจอต้องมีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ไปด้วยเป็นต้น
ระวังการเปิดกล้อง
บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ พูดคุยกันผ่านการเปิดกล้อง และใช้ Live ในแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ
การเปิดกล้องต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเราอาจถูกผู้อื่นบันทึกภาพไว้ และอาจนำมาซึ่งอันตรายในภายหลัง สิ่งที่ควรระวังมีดังนี้
สื่อสารกับผู้อื่นด้วยความเคารพและเห็นอกเห็นใจ
สอนให้ลูกสื่อสารกับผู้อื่นอย่างให้เกียรติ ให้ความเคารพ และเห็นอกเห็นใจ ให้เด็กใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่ด่าทอ หยาบคายกับผู้อื่น และหากเห็นผู้อื่นโดนรังแกไม่ร่วมกระทำซ้ำ ให้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นึกถึงใจเขาใจเรา ลดปัญหาเรื่องการระรานทางไซเบอร์ การกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ เพื่อให้สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น